การประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตของธุรกิจ
บริษัทฯ จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตในทุกหน่วยงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ซึ่งแต่ละหน่วยงานระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตขึ้น ระดับคะแนนของโอกาสเกิดและผลกระทบ รวมถึงแนวทางในการลดความเสี่ยงและมาตรการในการป้องกันหรือต่อต้านการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น โดยผู้ประเมินความเสี่ยงพิจารณาความเสี่ยงจากลักษณะกิจกรรมทางธุรกิจ กระบวนการดำเนินงาน สภาพอุตสาหกรรม เงื่อนไขทางธุรกิจ ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการทุจริต และคู่มือประกอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการทุจริต ที่ระบุวิธีปฏิบัติตามนโยบายแต่ละเรื่องอย่างเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นการรับหรือการให้ของขวัญ การจ่ายเงินสนับสนุน หรือการดำเนินการทางการเมือง ซึ่งกรรมการ ผู้บริหาร หัวหน้างาน และพนักงานทุกคนของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามที่บริษัทฯ ได้มีการสื่อสารและฝึกอบรมแก่พนักงาน
บริษัทฯ ไม่พบประเด็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการแข่งขัน การทำลายความน่าเชื่อถือ การผูกขาดทางการค้า เหตุการณ์เลือกปฏิบัติ เหตุทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนไม่มีค่าปรับหรือการถูกลงโทษที่ไม่ใช่การปรับอันเนื่องจากการดำเนินงานไม่สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง และการละเมิดจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด
6 ขั้นตอนการบริหารจัดการความเสี่ยง
การระบุความเสี่ยง หัวหน้าหน่วยงานระบุความเสี่ยงด้านการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นโดยนำผลที่ได้มาดำเนินการ
- เมื่อมีการวางแผนตรวจสอบภายใน
- เมื่อมีการจัดทำ Audit Checklist ในกระบวนการตรวจระบบงาน
การประเมินความเสี่ยง ผู้ประเมินทำการบ่งชี้ระดับความรุนแรงของความเสี่ยง ว่ามีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์อย่างไร โดยพิจารณาระดับของโอกาส (Likelihood) และระดับผลกระทบ (Impact) ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเสี่ยง เมื่อพบประเด็น/ข้อตรวจพบ มีความเสี่ยงอยู่ในระดับกลาง สูง หรือสูงมาก ต้องรายงานแผนการจัดการความเสี่ยง และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ต่อคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การจัดการความเสี่ยง กำหนดกลยุทธ์หรือกิจกรรม เพื่อจัดการความเสี่ยงให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ของบริษัทฯ
กิจกรรมควบคุม นำนโยบายหรือวิธีปฏิบัติไปใช้ดำเนินการควบคุม เช่น การอนุมัติ การสอบทาน การกระทบยอด การแบ่งแยกหน้าที่ เพื่อให้มั่นใจว่า การจัดการความเสี่ยงได้มีการดำเนินการอย่างเหมาะสมและทันเวลา
การติดตามและรายงานผลการจัดการความเสี่ยง ติดตามและปรับปรุงกิจกรรมการจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมต่อสถานการณ์ โดยมีการรวบรวมและนำเสนอข้อมูลความเสี่ยงด้านทุจริต นำเสนอต่อ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการบริษัทพิจารณาเห็นชอบ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การสื่อสาร สื่อสารจัดการความเสี่ยงตามความเห็นของกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริษัท และแจ้งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบ
โดยมีการสื่อสารประเด็น/ข้อตรวจพบระหว่างกันของส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้
- ส่วนงานตรวจสอบภายในและกำกับดูแลกิจการ
- แผนกบริหารความเสี่ยง
- แผนกระบบคุณภาพ
การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุม ป้องกัน และติดตามความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชัน
ประธานกรรมการบริหารเป็นผู้นำองค์กรที่เป็นแบบอย่างในการนำนโยบายการต่อต้านการทุจริตมาดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น
- สารจากประธานกรรมการบริหารเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการทุจริต แจ้งไปยังผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเพื่อเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินการต่อต้านการทุจริต
- ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption Cooperation Subcommittee) เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือป้องกันการทุจริต และการเพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงการคลัง
- บริษัทฯ ร่วมลงนามเป็นสมาชิกเครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย (PACT Network)
- การสนับสนุนกิจกรรมการทดสอบความรู้เกี่ยวกับมาตรการต่อต้านทุจริตผ่านระบบออนไลน์ของบริษัทฯ และมอบรางวัลแก่พนักงานที่มีผลคะแนนสูงสุด
- กำหนดดูแลให้ผู้บริหารและหัวหน้างานสื่อสารความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชันผ่านการประชุมโครงการ และให้ความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจและให้สัมภาษณ์ความคิดเห็นบริษ้ทภาคเอกชนเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของ IOD
- บริษัทฯ ได้รับการรับรองในฐานะสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption: CAC) จากคณะกรรมการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทยบริษัทฯ ลงนามเข้าร่วมโครงการเป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตสำหรับรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (CAC Change Agent) และประกาศเป็น CAC Change Agent ในฐานะแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption) จากคณะกรรมการแแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
การปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กรในลักษณะนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานทุกคน ร่วมแรงร่วมใจในการต่อต้านการทุจริต โดยพนักงานทุกคนมีการถือปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านทุจริตอย่างเคร่งครัด อีกทั้ง บริษัทฯ ได้จัดทำวิธีการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านทุจริต เพื่อควบคุมป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการทุจริต ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการเปิดเผยวิธีการปฏิบัติดังกล่าวไว้ทางอินทราเน็ตของบริษัทฯ และได้มีการสื่อสารความรู้เกี่ยวกับนโยบายและวิธีปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตไปยังพนักงานทุกคน ทั้งของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ผ่านช่องทางอีเมล, Group Line, บอร์ดประชาสัมพันธ์จุดต่าง ๆ ภายในสำนักงานใหญ่ ตลอดจนสำนักงานโครงการทุกโครงการของบริษัทฯ รวมถึงบริษัทย่อย สำหรับพนักงานเข้าใหม่จะได้รับทราบนโยบายและวิธีปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตทันทีที่เริ่มงาน และการฝึกอบรมแก่พนักงานในการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ทุกครั้ง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ไปยังบุคคลภายนอกและคู่ค้าทุกรายของบริษัทฯ
นอกจากนี้ ยังกำหนดวิธีปฏิบัติในการบันทึกและรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติของจำนวนการแจ้งเบาะแส ประเภทของเบาะแส จำนวนเบาะแสที่ได้รับการสอบสวนและดำเนินการ สรุปผลการสอบสวนแต่ละข้อร้องเรียน รวมถึงรายงานสถิติการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนประจำปี ต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามความคืบหน้า และการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่อาจก่อให้เกิดการกระทำอันทุจริตในทุกรูปแบบ
จากขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทฯ ซึ่งมีการนำผลการประเมินมาใช้ในการกำหนดนโยบายและวิธีปฏิบัติ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการทุจริตขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสินบน ผลตอบแทน ของขวัญ หรือประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ โดยวิธีปฏิบัติที่กำหนดขึ้นมีการกำหนดผู้รับผิดชอบในการควบคุมป้องกันและติดตามการดำเนินการที่อาจเกิดความเสี่ยงจากการทุจริตภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารมีการถ่ายทอดเจตนารมณ์ไปยังหุ้นส่วนทางธุรกิจ และคู่ค้าทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายทอดเจตนารมณ์ในการส่งเสริมให้ทั้งพนักงานของบริษัทฯ และสื่อสารให้ผู้รับเหมาทราบถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันการทุจริต ซึ่งผู้รับเหมาสามารถแสดงความเห็น/แจ้งสิ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้โดยตรงต่อผู้บริหารระดับสูง หรือผ่านทางอีเมล anti-corruption@supalai.com