รายงานคณะกรรมการตรวจสอบ
เรียน ท่านผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ ประกอบด้วยกรรมการอิสระ จำนวน 3 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีประสบการณ์ด้านการเงิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการบริหารองค์กร โดยมีนายอนันต์ เกตุพิทยา เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ผศ.อัศวิน พิชญโยธิน และ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ เป็นกรรมการตรวจสอบ ซึ่งทุกท่านมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อช่วยคณะกรรมการบริษัทในการดูแลกิจการ ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบในการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในที่เพียงพอ การตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตามกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งสอดคล้องตามแนวปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ความระมัดระวังรอบคอบ มีความเป็นอิสระอย่างเพียงพอ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมกัน และรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการบริษัทรับทราบทุกครั้ง โดยในปี 2566 มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบทั้งสิ้นรวม 12 ครั้ง ทั้งนี้ มีการหารือร่วมกับฝ่ายบริหาร หน่วยงานตรวจสอบภายใน และผู้สอบบัญชีในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสรุปสาระสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ได้ดังนี้
- การสอบทานรายงานทางการเงิน และรายงานผลการดำเนินงานที่มิใช่รายงานทางการเงิน
- การสอบทานการบริหารความเสี่ยง
- การสอบทานระบบการควบคุมภายใน
- การสอบทานการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
- การสอบทานรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- การสอบทานการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
- การทบทวนกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ และกฎบัตรของหน่วยงานตรวจสอบภายใน
- การกำกับดูแลงานตรวจสอบภายใน
- การพิจารณาเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและค่าสอบบัญชี
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปี 2566 ของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และงบการเงินรวม ร่วมกับฝ่ายบริหาร หน่วยงานตรวจสอบภายใน และเชิญผู้สอบบัญชีร่วมประชุมทุกไตรมาส เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และการแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี พร้อมทั้งสอบถามผู้สอบบัญชีในเรื่องความถูกต้องครบถ้วนของงบการเงิน การปรับปรุงรายการบัญชีที่สำคัญ เรื่องสำคัญจากการตรวจสอบ (Key Audit Matters) รวมถึงการประมาณการทางบัญชี ซึ่งมีผลกระทบต่องบการเงิน ความเพียงพอเหมาะสมของวิธีการบันทึกบัญชี ขอบเขตการตรวจสอบ การเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ และความมีอิสระของผู้สอบบัญชี เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดทำงบการเงินเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป ระบบบัญชีและงบการเงินมีความถูกต้องเชื่อถือได้ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินอย่างเพียงพอและทันเวลา เพื่อเป็นประโยชน์กับนักลงทุนหรือผู้ใช้งบการเงิน
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานรายงานผลการดำเนินงานของฝ่ายต่าง ๆ โดยเปรียบเทียบแผนงานกับผลการดำเนินงานของฝ่ายต่าง ๆ โดยจะซักถามประเด็นปัญหาหรือสิ่งที่น่าเป็นห่วง พร้อมให้ข้อคิดเห็น พิจารณาแนวทางการจัดการ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติงานตามแนวทางอย่างเหมาะสมและโปร่งใส
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานการบริหารความเสี่ยง แผนงาน และแนวทางบริหารความเสี่ยงตามหลักการที่กำหนดในนโยบายบริหารความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมถึงพิจารณาและสอบทานประสิทธิภาพและความเหมาะสมของกระบวนการบริหารความเสี่ยงอันเกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกของบริษัทฯ และติดตามความคืบหน้าของการบริหารความเสี่ยงสำคัญ โดยพิจารณาระบุปัจจัยเสี่ยงที่ครอบคลุมการปฏิบัติงาน โอกาสที่จะเกิดผลกระทบจากการจัดการความเสี่ยง ทำให้มั่นใจได้ว่า บริษัทฯ มีการประเมินความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญอย่างเป็นระบบ พร้อมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงานทั้งองค์กร เพื่อให้พนักงานแต่ละระดับรับทราบบทบาทหน้าที่ของตนเองและตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อการสร้างระบบการควบคุมภายในขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่าต่อธุรกิจ
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานระบบการควบคุมภายในร่วมกับผู้สอบบัญชี เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ และหน่วยงานตรวจสอบภายในทุกไตรมาส ทั้งในด้านการดำเนินงาน การใช้ทรัพยากร การดูแลทรัพย์สิน การป้องกันหรือลดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหลของข้อมูลที่สำคัญ ความเชื่อถือได้ของรายงานทางการเงิน การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อประเมินความเพียงพอเหมาะสมของระบบการควบคุมภายในตามมาตรฐานการตรวจสอบภายใน และแนวทางที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมการติดตามผลการดำเนินงานความปลอดภัยทางไซเบอร์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทฯ ทั้งยังสร้างความตระหนักรู้เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และการควบคุมภายในกับพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำแบบทดสอบความตระหนักรู้ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cybersecurity Awareness) เพื่อให้พนักงานทุกคน มีความรู้ความเข้าใจ และพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดในปัจจุบัน รวมถึงการพิจารณาผลการตรวจสอบตามแผนงานการตรวจสอบที่ได้รับการอนุมัติ และรายงานผลการตรวจสอบ โดยฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ได้ติดตามให้มีการแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอแนะในรายงานผลการตรวจสอบ และข้อคิดเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงแก้ไขระบบการควบคุมภายในให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผลการตรวจสอบภายในไม่พบจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องในระบบการควบคุมภายในที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเป็นสาระสำคัญ
ในปี 2566 คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่า บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในและการกำกับดูแลความเสี่ยงอย่างเพียงพอ เหมาะสม และมีประสิทธิผลทางธุรกิจ นอกจากนี้ผู้สอบบัญชีได้ประเมินผลระบบการควบคุมภายใน ซึ่งไม่พบจุดอ่อนที่เป็นสาระสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทฯ
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ฯ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งไม่ได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชี การร้องเรียนจากบุคคลภายนอก การเปิดเผยข้อมูลโดยฝ่ายจัดการ และหน่วยงานตรวจสอบภายในไม่พบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงทำให้มั่นใจได้ว่าบริษัทฯ ไม่มีการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และมีความเห็นว่ามีการเปิดเผยข้อมูลครบถ้วนอย่างเพียงพอ เป็นรายการจริงทางการค้าอันเป็นธุรกิจปกติทั่วไปอย่างสมเหตุสมผล ขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยปี 2566 ไม่มีรายการที่เข้าข่ายลักษณะรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ที่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานระบบการควบคุมภายใน รวมถึงการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และการกำหนดแนวทางเชิงป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยจัดให้มีช่องทางการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต ประพฤติมิชอบ หรือการกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจ ผ่านเว็บไซต์และอีเมลของบริษัทฯ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสื่อสารการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งนี้ผลการตรวจสอบภายในไม่พบจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องในระบบการควบคุมภายในตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่า บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในและการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเพียงพอเหมาะสม
คณะกรรมการตรวจสอบได้ทบทวนกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ และข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ มีความเป็นอิสระและโปร่งใส เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ คณะกรรมการตรวจสอบเชื่อมั่นว่างบการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีความถูกต้อง เชื่อถือได้ และสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป และมาตรฐานการรายงานทางการเงินได้ดำเนินการภายใต้การบริหารความเสี่ยงและระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิผล เพียงพอ เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานกฎบัตรของหน่วยงานตรวจสอบภายในมีความเห็นว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานตรวจสอบภายใน เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงาน และให้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี
คณะกรรมการตรวจสอบมีการกำกับดูแลหน่วยงานตรวจสอบภายใน ซึ่งครอบคลุมถึงภารกิจหลัก ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ ความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานตรวจสอบ รวมถึงการจัดองค์กรและอัตรากำลัง โดยสอบทานและอนุมัติแผนงานการตรวจสอบประจำปีที่จัดทำขึ้นตามผลการประเมินความเสี่ยงในหน่วยงานของบริษัทฯ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานแก่หน่วยงานตรวจสอบภายในอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การตรวจสอบภายในเป็นไปตามมาตรฐานสากล การปฏิบัติตามแนวทางด้านความยั่งยืน การปฏิบัติงานตามวิชาชีพการตรวจสอบภายใน และมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งติดตามการดำเนินการแก้ไขตามรายงานผลการตรวจสอบในประเด็นที่มีสาระสำคัญ โดยสรุปเห็นว่าบริษัทฯ มีระบบการตรวจสอบภายในและการจัดการข้อมูลสารสนเทศที่เพียงพอเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานตรวจสอบภายในสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ พร้อมให้คำแนะนำปรึกษา ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการปรับปรุงการดำเนินงานของบริษัทฯ
คณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาคัดเลือก เสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชี รวมทั้งกำหนดค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีประจำปี 2566 โดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานในปีที่ผ่านมาของผู้สอบบัญชีตามเกณฑ์การประเมินผลของบริษัทฯ ด้านคุณสมบัติของผู้สอบบัญชี ความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน คุณภาพ และมาตรฐานการทำงาน อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ และผู้สอบบัญชีมีคุณสมบัติเป็นไปตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้น คณะกรรมการตรวจสอบจึงได้เสนอแต่งตั้งบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ และเสนอค่าสอบบัญชีประจำปีและรายไตรมาสของบริษัทฯ ประจำปี 2566 จำนวนเงิน 2.65 ล้านบาท ต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณา
โดยสรุป คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ได้ระบุไว้ในกฎบัตร โดยใช้ความรู้ความสามารถ ความระมัดระวัง รอบคอบ และมีความเป็นอิสระอย่างเพียงพอ ตลอดจนได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และเห็นว่างบการเงินของบริษัทฯ มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ สอดคล้องตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ทันเวลา มีการปฏิบัติงานที่สอดคล้องตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมีระบบการควบคุมภายในที่ดี มีการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยการติดตามสถานการณ์และความเสี่ยงใหม่ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต มี ระบบการควบคมภายในที่เพียงพอเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ