กฎบัตรของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความสำคัญต่อระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เพื่อให้บริษัทฯ มีการบริหารจัดการให้องค์กรเติบโตและสร้างมูลค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ( “ คณะกรรมการฯ ” ) ขึ้น เพื่อกำหนดหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีของกระบวนการกำกับดูแลกิจการ (Good Governance) และกำกับดูแลการปฏิบัติงานของกรรมการฝ่ายจัดการ ให้มีผลในทางปฏิบัติ ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการ และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงจัดโครงสร้างให้มีการตรวจสอบ ถ่วงดุล การให้ผลตอบแทน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัทฯ ในการบริหารและลดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างบุคคลภายในบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับต่ำสุด
อนึ่ง เพื่อให้การจัดการด้านการกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับบริษัทฯ จึงเห็นควรให้บริษัทฯ จัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อย คือ คณะกรรมการฯ ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติงานของกรรมการและฝ่ายจัดการ ให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงเห็นสมควรให้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ดังต่อไปนี้
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้การดำเนินงานภายในองค์กรมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
- เพื่อสร้างจิตสำนึกและตระหนักถึงความสำคัญแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ในการนำหลักการกำกับกิจการที่ดีไปปฏิบัติ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
- เพื่อกำกับดูแลกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ให้ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอันเป็นแนวทางในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร
องค์ประกอบ
- คณะกรรมการฯ มีอย่างน้อย 3 คน ต้องมีกรรมการบรรษัทภิบาลและพัฒนาอย่างยั่งยืน (กรรมการฯ) อย่างน้อย 1 คน ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีรวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประธานคณะกรรมการฯ เป็นกรรมการอิสระ
คุณสมบัติ
- คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะพิจารณาคัดเลือกจากกรรมการของบริษัทฯ และ/หรือผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา หลังจากนั้นจะได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทให้เป็นกรรมการฯ
- ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระ
วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง
- คณะกรรมการฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี สอดคล้องกับการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัทฯ เมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
- ในกรณีที่กรรมการรายใดพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดวาระ ให้เลือกตั้งกรรมการแทนภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ตำแหน่งว่างลงโดยกรรมการที่เข้ามาแทนมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับเวลาที่เหลือขอกรรมการที่เข้าทำหน้าที่แทน
การพ้นจากตำแหน่ง
- ครบกำหนดตามวาระ
- พ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทฯ
- ลาออก
- ตาย
- คณะกรรมการบริษัท มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
การประชุมและองค์ประชุม
- การประชุมคณะกรรมการฯ แต่ละครั้ง ให้มีกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการฯ จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม
- ในกรณีที่ประธานคณะกรรมการฯ อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการฯ ท่านหนึ่งเป็นประธานฯ ในที่ประชุม
- จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการฯ น้อยปีละ 1 ครั้ง และประธานคณะกรรมการฯ เรียกประชุมคณะกรรมการฯ เป็นกรณีพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องจำเป็นเร่งด่วนได้ตามที่เห็นสมควร
- เลขานุการคณะกรรมการฯ และ/หรือ ผู้เข้าร่วมประชุมอื่นไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมคณะกรรมการฯ
- กรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องใดจะไม่เข้าร่วมในการพิจารณา หรือลงมติในเรื่องนั้น ๆ
ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ
คณะกรรมการฯ มีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของบริษัทฯ ดังต่อไปนี้- กำหนดหลักการและข้อพึงปฏิบัติที่สำคัญของกระบวนการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิผลที่เหมาะสมสำหรับบริษัทฯ
- กำกับดูแลการปฏิบัติงานของกรรมการ และฝ่ายจัดการ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของหน่วยงานกำกับภายนอก ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- มอบนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ ให้คณะทำงานกำกับดูแลกิจการที่ดี
- พัฒนาและประกาศกำหนดหลักการกำกับดูแลกิจการที่เป็นเลิศ
- กำหนดนโยบายพร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการประเมินระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการภายในองค์กรด้วยตนเองทุกปี
- พัฒนาและจัดทำแผนการกำกับดูแลการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ประกาศกำหนด
- พิจารณาทบทวนการนำแนวทางหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG Code) มาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของบริษัทฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงข้อเสนอแนะของสถาบันกำกับฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการบริษัท
- พิจารณาทบทวนคู่มือกรรมการ ให้มีความต่อเนื่องและเหมาะสมกับธุรกิจของบริษัทฯ รวมถึงพิจารณาเสนอข้อบังคับคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการที่บริษัทฯ แต่งตั้งทุกชุด
- เสนอแนะข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมและจรรยาบรรณธุรกิจ ของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน
- พิจารณาทบทวนคู่มือนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านความยั่งยืนให้มีความต่อเนื่องและเหมาะสมกับธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภายใต้หลักธรรมาภิบาลอย่างบูรณาการพร้อมกับร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
- พิจารณาทบทวนค่านิยมด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงประกาศเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านกำกับดูแลกิจการที่ดีสู่สาธารณะ
- สนับสนุนให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมในการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้เป็นที่เข้าใจของผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ และให้มีผลในทางปฏิบัติ
- ทบทวนและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ และให้ความเห็นในแนวปฏิบัติและเสนอแนะเพื่อแก้ไขปรับปรุงตามความเหมาะสม
- ดูแลให้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีผลในทางปฏิบัติ
- ให้คำปรึกษาแก่คณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ารับการจัดอันดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยหน่วยงานกลางภายนอกองค์กรไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ทุก ๆ 3 ปี
- กำหนดให้มีระบบงานรับข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในกรณีที่เกี่ยวกับบรรษัทภิบาลและจริยธรรมและจรรยาบรรณธุรกิจ ของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน
- มีอำนาจเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุม หรือให้ชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้
- มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการรายงานกิจกรรมของคณะกรรมการฯ หรือหน้าที่อื่นใดที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- อาจขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตรอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ
- มีสิทธิเข้ารับการอบรม หรือเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ในงานที่เกี่ยวข้องโดยใช้ทรัพยากรของบริษัทฯ
- ทบทวนและปรับปรุงกฎบัตรคณะกรรมการฯ และเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติ
- ดูแลและให้คำแนะนำในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล
การรายงาน
การประเมินผล
ค่าตอบแทน
ภายหลังจากที่มีการประชุมคณะกรรมการฯ ทุกครั้ง ให้เลขานุการที่ประชุมสรุปความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการฯ นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อทราบ และ/หรือ เพื่อพิจารณาภายในวันที่มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งถัดไป
คณะกรรมการฯ ต้องประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และรายงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ ทั้งนี้ เพื่อนำผลการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
กรรมการมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น